ยึดแนวคิดของ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ สู่การออมเงินที่ดี

ยึดแนวคิดของ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ สู่การออมเงินที่ดี

การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒

ทางเราขอนำ ๔ แนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารการจัดการเงินของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแบบอย่างเพื่อให้ทุกคนนำไปยึดปฏิบัติตามกันค่ะ

๑. แนวคิดรู้วิธีจัดการบริหารเงิน "ค่าขนม"

ในหลวงทรงได้ค่าขนมอาทิตย์ละครั้ง กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย และเมื่อทรงได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่มความมัธยัสถ์ถือเป็นคุณูปการสำคัญที่ทำให้ในหลวงทรงเรียนรู้หลักความพอเพียงสมถะมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ จนกระทั่งสมเด็จย่ามีพระดำรัสในเวลาต่อมาว่า “ในสวนจิตรเนี่ย คนที่ประหยัดที่สุดคือ ในหลวง ประหยัดที่สุดทั้งน้ำ ทั้งไฟ เรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่มี”

จะเห็นได้ว่า การจัดการบริหาร การประหยัดเงินนั้น ทำได้โดยที่หากคุณได้รับเงินรายได้ ควรจัดสรรปันส่วนแบ่งเงินออกมาเป็น ๓ ส่วน คือ 

๑. แบ่งเงินเพื่อเก็บออม ส่วนใหญ่ทำไม่ค่อยได้และมักจะพูดว่ายากเสมอ แต่หากคุณมีเป้าหมาย เชื่อหรือไม่ว่า ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ การออมเงินก็เช่นกัน โดยคุณอาจเริ่มจากการออมเงินเล็กๆ น้อยๆ

๒. แบ่งเงินรายจ่ายทุกเดือน โดยคุณควรแบ่งเพื่อชำระหนี้ที่มีให้ตรงตามเวลา เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ต่างๆ ให้เป็นวินัย 

๓. เงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำ ซึ่งในแต่ละวันคุณอาจทำบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อให้รู็ที่มาที่ไปของเงินแต่ละบาทนั้นเสียไปกับเรื่องที่คุ้มค่าและมีประโยชน์จริงหรือไม่

๒. แนวคิดรู้จักอดออม อยากได้อะไรเก็บเงินซื้อด้วยตัวเอง

เมื่อครั้ง พระชนม์เพียง ๘ พรรษา ในหลวงทรงซื้อกล้องถ่ายรูปกล้องแรกด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์

อีกทั้ง ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของการรู้จักอดออม เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ได้กราบทูลสมเด็จย่าว่า อยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีกัน สมเด็จย่ารับสั่งตอบว่า “ลูกอยากได้ก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อ”

การรู้จักอดออมนั้น ต้องมี "วินัย" ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดความภูมิใจในตัวเองที่สุด ดังนั้น สาวๆ หากมีวินัยที่จะเก็บออมเงินแล้ว การลงมือทำ โดยรู้จักลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจะทำให้มีเงินเก็บเพื่อเติมความฝันที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง

๓. แนวคิดรู้จักการให้ เพิ่มคุณค่า

ในหลวงทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก “การให้” โดยสมเด็จย่าทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า “กระป๋องคนจน” เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก “เก็บภาษี” หยอดใส่กระปุกนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุม เพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนคนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้าหรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

หากปลูกฝัง ยึดปฏิบัติให้รู้จัก "การให้" จะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน เสียสละ เห็นใจผู้อื่น และกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวในเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม และยังเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นแรงผลักดันให้เห็นคุณค่าที่เราเองได้หยิบยื่นให้ผู้อื่นอีกด้วย

๔. แนวคิดรู้จักพอเพียง

เรื่องหนึ่งที่มีคนพูดกันแพร่หลาย แต่ความจับจิตจับใจก็ไม่เคยเสื่อมคลาย นั่นคือเรื่องหลอดยาสีพระทนต์ที่พระองค์ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดที่ปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากพระองค์ทรงใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และกดเป็นรอยบุ๋มนั่นเอง

อีกทั้ง พระองค์ไม่โปรดการใช้ปากการาคาแพง ในปีหนึ่งๆ ทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่งเท่านั้น โดยใช้เดือนละแท่งจนกุด
 
การรู้จัก "พอเพียง" ใช้จ่ายเท่าที่มี ไม่ยึดติดกับค่านิยม หรือวัตถุ จะช่วยให้เงินเก็บเพิ่มมากขึ้นและสร้างความมั่นคงของชีวิตในอนาคตได้อีกด้วย เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณยังสามารถนำเงินที่เก็บไว้มาใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ดังนั้น ความพอเพียงปลูกฝังได้ด้วยการกระทำ การมองโลกอย่างเข้าใจในการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย 

สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดที่ในหลวงทรงปฏิบัติมาอย่างยาวนาน และประชาชนคนไทยสามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ขอเพียงมุ่งมั่นและตั้งใจ รวมถึงพระองค์ทรงเป็นต้นแบบนักออมเงินที่หลายคนสามารถยึดเป็นแบบอย่างได้ค่ะ