เจอดาวคล้ายโลก 7ดวงนอกระบบสุริยะ-เป็นหินแข็งมีนํ้าส่อชีวิต

เจอดาวคล้ายโลก 7ดวงนอกระบบสุริยะ-เป็นหินแข็งมีนํ้าส่อชีวิต

เจอดาวคล้ายโลก 7 ดวงนอกระบบสุริยะ-เป็นหินแข็งมีนํ้าส่อชีวิต (ชมคลิป)

 

ฮือฮา นาซาประกาศพบระบบดาวคล้ายโลก นอกสุริยจักรวาลเป็นครั้งแรก ยืนยันพบถึง 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ โดยมี 3 ดวง มีโซนที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ส่งผลต่อสมมติฐาน “โลกไม่ได้อยู่อย่างเดียวดายในจักรวาล” ด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯชี้ไปอยู่ดาวอังคารง่ายกว่าไปอยู่ดาวดวงใหม่ที่เพิ่งค้นพบ เพราะไกลเกินไป ต้องใช้เวลากว่าสี่ล้านปีจากความเร็วของเครื่องบินเจ็ต เผยนาซา มีแผนสำรวจดาวอังคารหาสิ่งมีชีวิตในอีก 15 ปี

จากกรณีคณะนักวิจัยองค์การการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา แถลงข่าวที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. วันที่ 23 ก.พ. (ตามเวลาประเทศไทย) ถึงการค้นพบระบบสุริยจักรวาลแห่งใหม่ เป็นดาว 7 ดวงขนาดใกล้เคียงกับโลก โคจรรอบดาวดวงหนึ่ง ในจำนวนนี้ 3 ดวงอยู่ในสภาพแวดล้อมและระดับอุณหภูมิที่เป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่นั้น

ในช่วงสายวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ถึงเรื่องนี้ว่า การค้นพบดังกล่าวน่าตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยจักรวาลพร้อมกันถึง 7 ดวง ที่สำคัญมีลักษณะคล้ายโลกมากคือ เป็นดาวเคราะห์หินแข็ง รวมทั้งมีน้ำอยู่เป็นของเหลวได้ และเป็นน้ำที่ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ขณะที่การค้นพบที่ผ่านมา แม้จะมีการค้นพบดาวเคราะห์ลักษณะคล้ายโลกเราถึง 3 พันกว่าดวง แต่ส่วนมากจัดเป็นพวกดาวยักษ์แก๊ส ไม่ใช่ดาวเคราะห์หินแข็งคล้ายโลก ที่สำคัญในอนาคต นาซามีแผนที่จะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศขึ้นไป เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรด ในปี 2561 เพื่อศึกษาบรรยากาศของดาว เคราะห์ทั้ง 7 ดวง และเมื่อทราบองค์ประกอบสำคัญ เช่น ก๊าซออกซิเจน มีเทน หรือโมเลกุลสำคัญอื่นๆ ที่อาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิต จะทำให้เราทราบว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการค้นพบหรือยืนยัน แต่ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่มีการค้นพบ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ค้นพบระบบสุริยะขนาดเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากโลก และอาจทำให้เราเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ในเอกภพได้ดียิ่งขึ้น ว่ามีที่ใดบ้างที่เหมือนกับโลกของเรา

นายศรัณย์กล่าวอีกว่า แต่การจะเดินทางไปพิสูจน์ยังดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง คงลำบากเพราะอยู่ห่างจากโลกถึง 40 ปีแสง หรือ 235 ล้านล้านไมล์ 1 ปีแสงเท่ากับระยะทางที่แสงจะเดินทางในเวลา 1 ปี ประมาณ 3 แสนกิโลเมตรต่อวินาที ลองคูณเอาว่าจะต้องใช้เวลาเดินทางกี่ปี เมื่อเทียบกับระยะทางจากดวงอาทิตย์กับโลก แสงใช้เวลาเดินทาง 8.3 นาที และระยะทางจากดวงอาทิตย์ไปดาวพลูโต แสงใช้เวลาเดินทาง 5.5 ชั่วโมงเท่านั้น การเดินทางไปดาวอังคาร ที่อยู่ในระบบสุริยจักรวาลยังง่ายกว่า เพราะขณะนี้นาซาตั้งเป้าว่าภายใน 15 ปีจะต้องเดินทางไปดาวอังคารเพื่อ พิสูจน์ว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่อาศัยได้หรือไม่

ด้านนายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สดร.กล่าวว่า การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตอาจจะไม่ใช่สิ่งที่หายากและมีเพียงแค่บนโลกของเราอีกต่อไป เพราะดาวเคราะห์ 3 ดวงในดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนี้ อยู่ในช่วงที่เรียกว่า “habitable zone” หรือโซนที่เอื้อต่อการมีชีวิต นิยามโดยระยะห่างที่เหมาะสมจากดาวฤกษ์ที่พอจะมีน้ำอยู่ในสถานะของเหลว ไม่ใกล้จนเกินไปจนรังสีจากดาวฤกษ์แผดเผาและระเหยน้ำในมหาสมุทรออกไปหมด แต่ก็ยังไม่ไกลเกินไปจนดาวเคราะห์กลายเป็นดาวน้ำแข็งที่ไร้ซึ่งชีวิต อย่างไรก็ตาม เรายังไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับองค์ ประกอบของดาวเคราะห์เหล่านี้ที่จะบอกได้ว่ามีน้ำหรือชีวิตบนดาวเคราะห์เหล่านั้น

นายมติพลกล่าวอีกว่า ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงที่ค้นพบนี้มีระยะวงโคจรที่ใกล้กับดาวแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) มากกว่าวงโคจรของดาวพุธรอบๆ ดวงอาทิตย์ เหตุดังกล่าวทำให้ดาวเคราะห์เหล่านี้อยู่ใกล้กันเป็นอย่างมาก หากเราไปยืนอยู่บนดาวเคราะห์ ดวงหนึ่งในระบบดาวดวงนี้ เราจะสามารถมองเห็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงเมฆและสภาพลมฟ้าอากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะเดียวกันได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะทางที่ไกลถึง 39 ปีแสง มนุษย์ยังไม่มีแผนที่จะเดินทางไปยังระบบดาวเคราะห์นี้ในเร็ววันนี้ หากเราสามารถเดินทางได้เร็วเท่ากับแสง เรายังต้องใช้เวลาถึง 39 ปีแสงและหากเราพยายามจะเดินทางไประบบดาวเคราะห์นี้ด้วยความเร็วของเครื่องบินเจ็ต เราจะต้องใช้เวลาถึงกว่าสี่ล้านปี

สำหรับการแถลงข่าวของนาซาในครั้งนี้ เป็นที่สนใจของสื่อทั่วโลกอย่างมาก ทั้งสำนักข่าวเอพีและรอยเตอร์ รายงานตลอดวันถึงการค้นพบระบบดาวนอกระบบสุริยจักรวาลเป็นครั้งแรก โดยนาซาระบุพบดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลก รวมทั้งหมด 7 ดวง กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดเกือบเท่าดาวพฤหัสบดี และสันนิษฐานว่าดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ทั้งนี้ การโคจรของดาวทั้ง 7 ดวง คือมีดาวฤกษ์อยู่ตรงกลาง และมีดาวเคราะห์บริวารจำนวน 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกัน นาซ่าเรียกระบบดังกล่าวว่า แทรพพิสต์-1 (Trappist-1) ซึ่งมาจากชื่อของกล้องโทรทรรศน์ The Transiting Planets and Planetesimals Small Telescope (TRAPPIST) ในประเทศชิลี ซึ่งเป็นกล้องที่ค้นพบระบบดาวดังกล่าวเมื่อปี 2559 โดยครั้งแรก ค้นพบดาวเคราะห์เพียง 3 ดวง แต่หลังจากนั้นกล้องโทรทรรศน์จากหลายพื้นที่ รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ได้ยืนยันถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์ 2 ใน 3 ดวง จากนั้นได้ค้นพบเพิ่มอีก 5 ดวงรวมเป็น 7 ดวง ระบบแทรพพิสต์-1 มีระยะห่างจากโลก 40 ปีแสง รูปแบบของการเรียงตัวของดวงดาวในแทรพพิสต์-1 จะเช่นเดียวกับดวงดาวต่างๆ ในระบบสุริยะของเราที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากหอดูดาวไลเดนของประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงกับยกให้ระบบดาวแทรพพิสต์เป็น “พี่น้องทั้งเจ็ดของโลก”

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าดาวเคราะห์ทั้ง 7 ที่ค้นพบนี้เป็นดาวเคราะห์หิน แต่มี 3 ดวง ที่มีโซนที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ด้วยระยะห่างที่พอเหมาะจากดาวฤกษ์ตรงกลาง ซึ่งหากดวงดาวทั้ง 7 มีชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่บนดวงดาวจะมีน้ำ รวมถึงโอกาสที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้เช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าบนดวงดาวเหล่านั้นมีน้ำหรือสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หรือไม่

ส่วนดาวฤกษ์ที่อยู่ตรงกลางของระบบดาวแทรพพิสต์-1 จัดอยู่ในประเภทดาวแคระ ที่มีแสงทึมสลัว นักดาราศาสตร์ได้ทำภาพจำลองระบบดาวใหม่นี้ด้วยภาพดวงดาว 7 ดวง และให้ชื่อเป็นอักษรภาษาอังกฤษไล่ลำดับไปตั้งแต่ บี ซี ดี อี เอฟ จี เอช (b c d e f g h) เพื่อให้เห็นความแตกต่างของขนาดและสภาพพื้นผิวของดาวแต่ละดวง ความแปลกประหลาดของดาวเคราะห์ทั้ง 7 คือแต่ละดวงจะหันหน้าเข้าหาดาวฤกษ์เพียงด้านเดียว จึงส่งผลให้พื้นที่ของดวงดาวถูกแบ่งเป็นกลางวันและกลางคืนโดยไม่มีหมุนเปลี่ยนแปลง ดังนั้นด้านสว่างจะมีแต่กลางวันและมีความอบอุ่นตลอดไป ขณะที่ด้านหลังของดาวนั้นจะเป็นกลางคืนมืดมิดและหนาวเย็นตลอดไป ส่วนการโคจรรอบดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนั้น จะมีรอบโคจรตั้งแต่ 1 วันครึ่งไปจนถึง 20 วัน เรียกได้ว่าปีหนึ่งของดาวในระบบดาวเคราะห์ดังกล่าวจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเปรียบเทียบว่า ดาวเคราะห์ทั้ง 7 มีระยะห่างที่ไม่ไกลกันนัก ฉะนั้นสมมติให้มนุษย์ขึ้นไปยืนบนดวงดาวแห่งนั้น จะสามารถมองเห็นดาวดวงอื่นในระบบเดียวกัน

ทั้งนี้ การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ นักดาราศาสตร์ได้ยืนยันว่ามีการค้นพบดาวเคราะห์ถึง 3,600 ดวงนอกระบบสุริยะมานานตั้งแต่ พ.ศ.2533 โดยมีดวงดาวไม่ถึง 48 ดวงที่มีศักยภาพพอที่จะเข้าข่ายเป็นเขตที่เอื้อให้มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ และในจำนวนนั้นมีเพียง 18 ดวงที่ประมาณว่าขนาดน่าจะเทียบเท่ากับโลก

ด้านนายโธมัส เซอร์บูเช่น ผู้อำนวยการดูแลระบบภารกิจวิทยาศาสตร์แห่งนาซ่า เผยว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นนัยสำคัญที่บอกว่าการค้นพบโลกที่สองไม่ใช่แค่สมมติฐาน แต่อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่จะค้นพบเท่านั้น และจะตอบคำถามที่มีมาแต่ไหนแต่ไรว่าโลกมนุษย์ของเรา ไม่ได้อยู่อย่างเดียวดายในอวกาศ